Covalent bond พันธะโคเวเลนต์

พันธะ มากจากคำว่า Bond ซึ่งหมายถึง แรงยึดเหนี่ยว ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมด้วยกัน และยังรวมถึงแรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลด้วยกันให้เป็นกลุ่มก้อน ดังนั้น เราจึงสามารถแบ่งแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของสารทางเคมีออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอม (ภายในโมเลกุล) ได้แก่ พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ และ พันธะโลหะ
  2. แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุล ได้แก่ พันธะไฮโดรเจน และแรงแวนเดอร์วาลส์

โพสนี้ครูจะเน้นไปที่พันธะเคมีที่เป็นแรงยึดเหนี่ยวภายในโมเลกุล ซึ่งประกอบด้วย พันธะไอออนิก พันธะโคเวเลนต์ และ พันธะโลหะ มาทำความรู้จักกับพันธะแต่ละชนิดกันเลยครับ

พันธะตัวแรกของเราได้แก่

พันธะไอออนิก (IONIC BOND)

เป็นพันธะที่เกิดจากแรงกระทำระหว่างอะตอม 2 อะตอมที่มีประจุต่างกัน โดยจะเกิดการแลกเปลี่ยนอิเล็กตรอน ทำให้เกิดแรงดึงดูดทางไฟฟ้าสถิตระหว่างประจุที่ต่างกัน พันธะไอออนิกจะเกิดระหว่างโลหะรวมตัวกับอโลหะ และเกิดขึ้นระหว่างธาตุที่มีค่า EN ต่างกันมาก

2ionic

ตัวอย่างการเกิดพันธะไอออนิก

เราจะมาทำความรู้จักกับพันธะไอออนิกมากขึ้นหลังจากเรียนพันธะโคเวเลนต์จบแล้วครับ

พันธะโลหะ (METALLIC BOND)

คือ แรงดึงดูดระหว่างไอออนบวกกับเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่เคลื่อนที่รอบๆก้อนโลหะ เกิดจากอะตอมของโลหะใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกัน เวเลนซ์อิเล็กตรอนสามารถเคลื่อนที่ไปทุกอะตอมได้ทั่งทั้งก้อนโลหะ

fba2965c626a450042effd6174b49257d3b3a69f

ตัวอย่างการเกิดพันธะโลหะ

เราจะมาทำความรู้จักกับพันธะไอออนิกมากขึ้นหลังจากเรียนพันธะไอออนิกจบแล้วครับ

พันธะโคเวเลนต์ (COVALENT BOND)

คือ พันธะที่เกิดจากการที่อะตอมใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนร่วมกันเป็นคู่ๆ เพื่อให้เวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัวตามกฎออกเตต (Octet rule)

covalent_bonding

ตัวอย่างการเกิดพันธะโคเวเลนต์

การเกิดพันธะโคเวเลนต์

          นิวเคลียสของอะตอมทั้งสองจะต้องเข้ามาอยู่ใกล้กันในระยะที่เหมาะสม เพื่อทำให้แรงดึงดูดทั้งหมดของระบบเท่ากับแรงผลักทำให้อยู่ในภาวะสมดุลกัน รวมทั้งมีการใช้อิเล็กตรอนร่วมกันเกิดเป็นโมเลกุล เรียกว่า เกิดพันธะโคเวเลนต์

ตัวอย่างการเกิดโมเลกุลของไฮโดรเจน

C9F11

นักเรียนคงจะสงสัยว่ากฎออกเตตคืออะไร มาดูกันเลย ^ ^
กฎออกเตต (OCTET RULE)

The octet rule – อะตอมใดๆ มีแนวโน้มที่จะสร้างพันธะจำนวนหนึ่งเพื่อให้อะตอมมีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัว อะตอมที่มีเวเลนซ์อิเล็กตรอนครบแปดตัว มีการจัดเรียงอิเล็กตรอนเหมือนแก๊สเฉื่อยในหมู่ 8A จะมีความเสถียรมาก (ยกเว้น H และ He ตามกฎออกเตตจะมีวาเลนซ์อิเล็กตรอนครบสอง)

ข้อยกเว้นของกฎออกเตต

โมเลกุลโคเวเลนต์ จะมีการจัดเรียงอิเล็กตรอน เป็นไปตามกฎออกเตต ซึ่งทำให้สารประกอบอยู่ในสภาพที่เสถียร แต่อย่างไรก็ตามพบว่าสารประกอบบางชนิดมีการจัดเรียงอิเล็กตรอนไม่เป็นไปตามกฎออกเตต จัดเป็นข้อยกเว้นสำหรับกฎออกเตต

(ก) พวกที่ไม่ครบออกเตต ได้แก่สารประกอบของธาตุในคาบที่ 2 ของตารางธาตุ เช่น Be, B  สามารถสร้างพันธะแล้วทำให้อิเล็กตรอนน้อยกว่าแปด เช่น  BF3  BCl3  BeCl2 และ BeF2  เป็นต้น

(ข) พวกที่เกินออกเตต ได้แก่ สารประกอบของธาตุที่อยู่ในคาบที่ 3 ของตารางธาตุเป็นต้นไป สามารถสร้างพันธะแล้วทำให้อิเล็กตรอนเกินแปด เช่น PCl5 SF6 เป็นต้น

ลักษะการเกิดพันธะโคเวเลนต์
  1. การสร้างพันธะระหว่างอะตอมชนิดเดียวกัน เกิดเป็นโมเลกุลของธาตุ เช่น H2, O2, O3, S8
  2. การสร้างพันธะระหว่างอะตอมต่างชนิดกัน เกิดเป็นโมเลกุลของสารประกอบ เช่น HCl, H2O, NH3
  • อิเล็กตรอนที่ใชในการเกิดพันธะ 1 พันธะ (2e) เรียกว่า  อิเล็กตรอนคูพันธะ (bonded pair)
  • คูอิเล็กตรอน (2e) ที่ไมไดใชในการเกิดพันธะ เรียกว่า อิเล็กตรอนคูโดดเดี่ยว (lone pair)
  • อิเล็กตรอนที่ไม่มีคู่ เรียกว่า อิเล็กตรอนเดี่ยว (single electron)
ลักษณะสำคัญของพันธะโคเวเลนต์

ส่วนมากเป็นธาตุอโลหะกับอโลหะเนื่องจากธาตุอโลหะมีพลังงานไอออไนเซซันค่อนข้างสูง จึงเสียอิเล็กตรอนได้ยาก มีแต่ใช้อิเล็กตรอนร่วมกันเกิดเป็นพันธะโคเวเลนต์

  1. เป็นพันธะที่เกิดจากอะตอมของธาตุที่มีค่า EN สูงยึดกับ EN สูงด้วยกัน
  2. เป็นพันธะที่เกิดจากอะตอมของ

อโลหะกับอโลหะ   เช่น CO2    NH3

กึ่งโลหะกับอโลหะ  เช่น  SiO2  GeCl4

ชนิดของพันธะโคเวเลนต์

พิจารณาจากจำนวนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกันของอะตอมคู่ร่วมพันธะ ดังนี้

พันธะเดี่ยว (SINGLE BOND)

เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 1 คู่ ใช้เส้นตรง 1 เส้น แทนพันธะเดี่ยว

พันธะคู่ (DOUBLE BOND)

          เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 2 คู่ ใช้เส้นตรง 2 เส้น แทนพันธะคู่

พันธะสาม (TRIPLE BOND)

          เกิดจากอะตอมคู่สร้างพันธะทั้งสอง ใช้อิเล็กตรอนร่วมกัน 3 คู่ ใช้เส้นตรง 3 เส้น แทนพันธะสาม

 ตัวอย่าง ชนิดของพันธะโคเวเลนต์ โดยพิจารณาจากจำนวนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกันของอะตอมคู่ร่วมพันธะ

Bonds

พันธะโคออร์ดิเนตโคเวเลนต์ (CO-ORDINATE  COVALENT  BOND)

          คือ พันธะโคเวเลนต์ที่เกิดขึ้นโดยอะตอมหนึ่งเป็นตัวให้คู่อิเล็กตรอนเพื่อเกิดพันธะ ซึ่งมักเกิดกับโมเลกุลที่มีอิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวเหลือ และเมื่อใช้ไปแล้วก็มีจำนวนอิเล็กตรอนวงนอกไม่เกิน 8

ตัวอย่างเช่น แอมโมเนียมไออน (NH4+)  ซึ่งเกิดจาก   H+  + NH3  ได้ผลิตภัณฑ์เปฺ็น NH4+ โดย N เป็นฝ่ายให้คู่อิเล็กตรอนกับ H ในการสร้างพันธะ ดังรูป

coordinate covalent bonding

การเขียนสูตรโครงสร้างโมเลกุลโควาเลนต์
  • สูตรโครงสร้างแบบจุด (ELECTRON-DOT STRUCTURE)

หรือเรียกว่าโครงสร้างลิวอิส (Lewis  structure)  เป็นการสร้างพันธะโดยการนำเอาเวเลนซ์อิเล็กตรอนมาใช้ร่วมกัน  การให้หรือ/และรับอิเล็กตรอนของอะตอมทั้งสองอะตอมให้เป็นไปตาม   “กฎออกเตต (octet  rule)”  โดยแสดงเวเลนซ์อิเล็กตรอนเป็นจุด

  • สูตรโครงสร้างแบบเส้น (GRAPHIC STRUCTURE)
    • ใช้เส้นตรง 1 เส้น ( — ) แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน 1 คู่
    • ใช้เส้นตรง 2 เส้น ( = ) แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน  2  คู่
    • ใช้เส้นตรง 3 เส้น แทนอิเล็กตรอนที่ใช้ร่วมกัน 3 คู่
    • ให้เขียนไว้ในระหว่างสัญลักษณ์ของธาตุคู่ร่วมพันธะ
    • อิเล็กตรอนคู่โดดเดี่ยวที่เหลืออาจเขียนโดยใช้จุดแทน หรือไม่เขียนเลยก็ได้
วิธีเขียนสูตรโครงสร้าง
  • เขียนอะตอมทั้งหมดที่เกิดพันธะกันให้อยู่ใกล้กัน กรณีที่มีอะตอม 3 ตัว  อะตอมที่จะต้องอยู่ตำแหน่งกลาง  คือ อะตอมที่มีค่า EN ต่ำ
  • หาจำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนทั้งหมด นำอิเล็กตรอนที่มีอยู่ไปเขียนรอบอะตอมต่างๆ โดยใช้จุดแทนเวเลนซ์อิเล็กตรอนรอบอะตอมเป็นคู่ ๆ โดยจัดให้แต่ละอะตอม มีจำนวนอิเล็กตรอนล้อมรอบครบ 8 ตัว (ยกเว้น H=2, Be=4, B=6)
    • ไอออนลบ: เพิ่มจำนวนอิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนประจุลบของไอออน
    • ไอออนบวก: ลบจำนวนอิเล็กตรอนเท่ากับจำนวนประจุบวกของไอออน
  • เชื่อมอะตอมด้วยพันธะเดี่ยว โดยใช้ 2 อิเล็กตรอนในการสร้างพันธะเดี่ยวแต่ละพันธะ
  • ในกรณีที่ใช้เวเลนซ์อิเล็กตรอนจนหมดแล้วแต่อะตอมยังไม่ครบ 8 ตัว อาจต้องมีพันธะคู่ หรือพันธะสามเกิดขึ้นด้วย
ตัวอย่างการเขียนสูตรโครงสร้างแบบจุดและแบบเส้น

b

lewis-dot-structure

 เรโซแนนซ์ (RESONANCE)

          หมายถึง การใช้สูตรโครงสร้างแบบจุดของลิวอิสตั้งแต่ 2 โครงสร้างขึ้นไปแทนโมเลกุลใดโมเลกุลหนึ่งโดย โครงสร้างเรโซแนนซ์ (Resonance structure) คือ สูตรโครงสร้างของสารที่สามารถเขียนได้มากกว่า  1  แบบ ซึ่งแต่ละสูตรที่เขียนขึ้นมาจะไม่สอดคล้องกับสูตรโครงสร้างที่แท้จริง การจะเป็นโครงสร้างเรโซแนนซ์ได้สารต้องมีการจัดเรียงตัวของอะตอมเหมือนกัน ต่างเพียงการกระจายอิเล็กตรอนในพันธะเท่านั้น

resonance_str03

ตัวอย่างการเกิดเรโซแนนซ์ของคาร์บอเนตไอออน

หลักในการตัดสินว่าโครงสร้างเรโซแนนซ์ แบบใด ควรเป็นไปได้มากที่สุดมีหลักในการตัดสินดังนี้คือ
  1. มีประจุฟอร์มาลต่ำสุด
  2. อะตอมที่มี En สูงกว่ามักมีประจุฟอร์มาลเป็นลบ เนื่องจากมีความสามารถดึงดูดอิเล็กตรอนมากกว่า (แต่ไม่เสมอไป)
  3. อะตอมชนิดเดียวกันจะไม่มีประจุฟอร์มาลที่มีเครื่องหมายตรงข้าม (มีเครื่องหมายตรงข้ามได้ แต่ความน่าจะเป็นสำหรับโครงสร้างนั้นๆ จะลดลง)
  4. เป็นไปตามกฎออกเตตมากที่สุด
ประจุฟอร์มาลคืออะไร
ประจุฟอร์มาล (FORMAL CHARGE)

          เป็นประจุไฟฟ้าสมมติที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ทำนายว่าโครงสร้างโมเลกุลแบบใดมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน (เนื่องจากโครงสร้างที่เกิดเรโซแนนซ์ ทำให้สารชนิดเดียวกันมีโครงสร้างได้หลายแบบ ดังนั้น โครงสร้างแบบใดจะเป็นไปได้มากที่สุดจะดูที่ประจุฟอร์มาล)

การคำนวณประจุฟอร์มาลบนอะตอมหนึ่งๆ ทำได้ดังนี้

ประจุฟอร์มาล    =   V – N – 1/2B

เมื่อ   V = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนของอะตอมที่สนใจ

N = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่ไม่สร้างพันธะ (non-bonding electron)

B = จำนวนอิเล็กตรอนทั้งหมดในพันธะรอบอะตอมนั้น

หรือ

ประจุฟอร์มาล    =   V – N – B

เมื่อ   V = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนของอะตอมที่สนใจ

N = จำนวนเวเลนซ์อิเล็กตรอนที่ไม่สร้างพันธะ (non-bonding electron)

B = จำนวนพันธะทั้งหมดรอบอะตอมนั้น

**หมายเหตุ: ทั้งสองสูตร ตัวแปร “B” ใช้ต่างกันนะครับ เวลาคำนวณให้เลือกใช้สูตรใดสูตรหนึ่งตามที่ตนเองถนัด อย่าเอามาปนกันนะครับ

นักเรียนสามารถศึกษาเพิ่มได้จาก Link นี้ครับ :

ตัวอย่างการคำนวณหาประจุฟอร์มาล

การเขียนสูตรโมเลกุลของสารประกอบโคเวเลนต์
  1. เรียงลำดับธาตุให้ถูกต้องตามหลักสากล ดังนี้คือ Si , C , Sb , As , P , N , H , Te , Se , S , At , I , Br , Cl , O , F ตามลำดับ
  2. ถ้าจำนวนอะตอมของธาตุมากกว่าหนึ่ง ให้เขียนจำนวนอะตอมด้วยตัวเลขแสดงไว้มุมล่างขวา (อะตอมเดียวไม่ต้องเขียน)
  3. หลักการเขียนสูตรสารประกอบโคเวเลนต์ ใช้จำนวนอิเล็กตรอนที่แต่ละอะตอมของธาตุที่ต้องการตามกฎออกเตตคูณไขว้
การเรียกชื่อสารประกอบโคเวเลนต์
  1. อ่านชื่อธาตุข้างหน้าก่อน แล้วตามด้วยธาตุที่อยู่ข้างหลังเปลี่ยนพยางค์ท้ายเป็น – ide

ตัวอย่างการอ่านธาตุที่อยู่หลัง เช่น

Cl  ให้เรียก  คลอไรด์      O  เรียก  ออกไซด์

N   ให้เรียก ไนไตรด์       F เรียก   ฟลูออไรด์

C    ให้เรียก คาร์ไบด์     Br เรียก โบร์ไมด์

S     ให้เรียก ซัลไฟด์      P   เรียก ฟอสไฟด์

  1. ระบุจำนวนอะตอมของธาตุด้วยตัวเลขในภาษากรีก ดังนี้

1 = มอนอ        2 = ได

3 = ไตร           4 = เตตระ

5 = เพนตะ       6 = เฮกซะ

7 = เฮปตะ       8 = ออกตะ

9 = โนนะ         10 = เดคะ

  1. ถ้าธาตุแรกมีอะตอมเดียวไม่ต้องระบุจำนวนอะตอมแต่ธาตุข้างหลังต้องระบุจำนวนอะตอมเสมอแม้มีเพียงอะตอมเดียว (ระบุโดยใช้ภาษากรีก)
ตัวอย่างการอ่านสื่อสารประกอบโคเวเลนต์

CO      อ่านว่า  คาร์บอนมอนอออกไซด์   หรือ คาร์บอนมอนอกไซด์

CO2     อ่านว่า  คาร์บอนไดออกไซด์

NO      อ่านว่า  ไนโตรเจนมอนอออกไซด์ หรือ ไนโตรเจนมอนอกไซด์

N2O     อ่านว่า  ไดไนโตรเจนมอนอออกไซด์ หรือ ไดไนโตรเจนมอนอกไซด์

N2O3   อ่านว่า  ไดไนโตรเจนไตรออกไซด์

N2O5   อ่านว่า  ไดไนโตรเจนเพนตะออกไซด์

ก็จบไปแล้วกับสรุปเนื้อหาพันธะโคเวเลนต์ใน Week นี้ครับ อีกอย่าง Midterm ใกล้เข้ามาแล้ว ครูก็ขอให้นักเรียนตั้งใจอ่านหนังสือให้มากๆ นะครับ